วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกาะพยาม




   


เกาะพยาม
ประวัติความเป็นมา
   พื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลเกาะพยาม ตำบลหงาว และตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประกอบไปด้วยพื้นน้ำทะเล และเกาะน้อยใหญ่กว่า 15 เกาะ เช่น เกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะทะลุ เกาะไฟไหม้ เกาะสองพี่น้อง และเกาะขาม เป็นต้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะช้าง ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหินกอง-ป่าคลองม่วงกลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียว-ป่าคลองเกาะสุย รวมเนื้อที่ประมาณ 183,125 ไร่ หรือ 293 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 167 ตารางกิโลเมตร หรือ 104.375 ไร่ เริ่มดำเนินการสำรวจจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนโยบายของกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 



    เกาะพยาม เป็นเกาะขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร อยู่ใกล้เกาะช้าง มีชาวบ้านอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 160 ครัวเรือน ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนมะม่วงหิมพานต์ สวนยางพาราและประมงชายฝั่ง กิจกรรมบนเกาะจะมีการตกปลา ขี่จักรยานรอบเกาะ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำดูปะการัง เกาะพยามถือเป็นแหล่งดูประการังที่สมบูรณ์สวยงาม และด้านทิศตะวันออกของเกาะไม่มีหาดทราย แต่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และมีชาวเล เผ่ามอแกน มาอาศัยอยู่เป็นบางครั้ง บนเกาะพยามมีที่พักบริการนักท่องเที่ยว


   เกาะพยาม ประกอบด้วยภูเขาสูง ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น บนเกาะมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ บริเวณรอบๆ เกาะมีปะการังที่สวยงามนานาชนิด สามารถดำน้ำดูปะการังได้ทางทิศตะวันตกของเกาะ เกาะ ดูนกแก๊ก ซึ่งอาศัยอยู่รอบเกาะ นกแก๊ก เป็นนกย้ายถิ่นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–มีนาคม พักแรมบริเวณชายหาดรอบๆ เกาะ ซึ่งมีบังกะโลให้บริการที่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ ทางด้านตะวันตกของเกาะ ทั้งสองอ่าวมีหาดทรายยาวเหยียดให้เล่นน้ำ หาดที่ค่อนข้างสงบเงียบและสวยงาม คือ หาดขาม อยู่ทางด้านใต้ของเกาะ ตรงข้ามกับเกาะขาม มีหาดทรายขาวสะอาดตัดกับทะเลสีคราม การเดินทางไปเกาะพยามสามารถไปลงเรือได้ที่ท่าเทียบเรือสะพานปลา ปากน้ำระนองซึ่งอยู่ห่างจากเกาะ 33 กิโลเมตร



   การเดินทาง ไป เกาะพยาม มีเรือโดยสารระหว่างท่าเรือเกาะพยาม(อยู่หลังสถานีตำรวจภูธรตำบลปากน้ำ) ไป เกาะพยาม อัตรา ค่าโดยสาร นักท่องเที่ยวต่างประเทศเรือโดยสารธรรมดา 150 บาท เรือเร็ว 350 บาท นักท่องเที่ยวชาวไทยเรือธรรมดา 100 บาท เรือเร็ว 250 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง




เรื่องเล่าเกาะพยาม
   ที่เกาะพยามมีหลายหาดแต่หาดที่น่าสนใจคืออ่าวใหญ่เป็นอ่าวที่มีหาดทรายยาวที่สุดแต่หาดที่นี่ไม่ขาวเหมือนทที่กระบี่หรือภูเก็ตนะครับแต่บรรยากาศที่นี่ดีมากๆเลยครับ
สงบและเป็นกันเองดีครับยกเว้นถ้าคุณเป็นคนเรื่องมากคงจะไม่เหมาะกับที่นี่
ที่อ่าวใหญ่จะมีแนวปะการังทั้งหัวหาดและท้ายหาดแนะนำ ที่ท้ายหาดเวลาบ่ายๆน้ำลด
จะมีปะการังโผล่ขึ้นมาเดินดูได้ครับแต่ระวังนิดนะครับเดี๋ยวจะเดินเหยียบปะการังแหลวหมด
ถ้าจะมาดำสน็อกเกิลก็มาได้ครับควรมาประมาณ 10-11 โมงมาบ่ายนำลดจะดำลำบาก
และต้องทำใจไว้ก่อนนะครับว่าน้ำค่อนข้างขุ่น แต่ว่าก็สวยใช้ได้ มีดอกไม้ทะเลเป็นกล่มใหญ่
ปลาการ์ตูนที่นี่เยอะมากครับ ปลาอื่นๆก็เยอะครับจำพวกปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลาไหลมอร์เล่
กุ้งมังกรก็มีนะ แต่อย่าออกไปไกลกระแสนำค่อนข้างแรงนะครับว่ายกลับเข้าฝั่งเหนื่อยมากๆ
ถ้าไม่มีชูชีพห้ามออกไปเด็ดขาด ที่หัวหาดก็มีปะการังเหมือนกัน แต่จะอยู่ไกลชายฝั่งนิดนึง
หรือจะไปดำที่อ่าวกวางปีบก็ได้ครับต้องหาเรือไปผมก็ไม่เคยไปเหมือนกันแต่คนที่นี่บอกว่า
เป็นแนวปะการังใหญ่ที่ใหญ่และสวยมากถ้าได้ไปแล้งจะมาเล่าให้ฟังครับ
ที่พักที่นี่จะกระจายอยู่ตามหาดต่างๆบรรยากาศสงบมากครับ

เรือออกจากท่าเรือระนอง               เรือออกจากท่าเรือเกาะพยาม

รอบเรือธรรมดา เรือเร็ว                 รอบ เรือธรรมดา เรือเร็ว        
รอบแรกเวลา 09.00 น. เวลา 09.30 น.                       รอบแรกเวลา 08.30 น. เวลา 09.00 น.          
รอบสองเวลา 14.00 น.เวลา 14.30 น.                        รอบสองเวลา 14.00 น. เวลา 13.00 น.          

































อ้างอิง 


http://www.toursabuy.com/kohpayam.asp


http://www.forest.go.th  กรมอุทยานแห่งชาติ(กรมป่าไม้เดิม)            






395 ปี บันทึกของปินโต

395 ปี บันทึกของปินโต


บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต เรื่อง “Pérégrinação”ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี


ค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนานโดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย


อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และผู้อ่านจำนวนไม่น้อยกลับมีความสงสัยต่อความเก่งกล้าสามารถของปินโต บางคนประนามว่างานเขียนของเขาเป็นเรื่องโกหกเพื่อความมีชื่อเสียงของตน แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองก็ยังนำชื่อของเขาไปล้อเลียน ทั้งๆที่ปินโตไม่เคยระบุว่า เป็นนิยายประโลมโลก ( Fiction) แต่กลับบอกว่า บันทึกของเขาเปรียบเป็น “ตำรา”ในการสำรวจดินแดนและการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆในโลกตะวันออก ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกฉบับนี้


ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า ใกล้เมืองกูอิงบรา ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน


ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปี


ค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ ใกล้เมืองอัลมาดา ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583


งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”


งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง เป็นต้น


ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้


ส่วนเฮนรี โคแกนระบุว่า จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้าทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่าเถื่อน”


จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของตน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมาบ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์


หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส


อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง


ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว


พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้